Last updated: 22 ต.ค. 2560 | 2024 จำนวนผู้เข้าชม |
รายงานประจำปี 2016 ของ Art Basel เปิดเผยตัวเลขมูลค่าการซื้อขายงานศิลปะทั่วทั้งโลกว่า ยอดขายงานศิลปะทั่วทั้งโลกกำลังตกต่ำลง ซึ่งต่อเนื่องมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นประเทศเดียวคือ จีน!!!
ความตื่นตัวทางด้านศิลปะของจีน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปี 2009 ที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมศิลปะเพื่อสร้างงาน ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะขึ้นมากมาย เช่น ที่ปรึกษาการสะสมงานศิลปะ, นายหน้าค้างานศิลปะ, นักออกแบบพื้นที่ศิลปะ, นักวางแผนการสะสมงานศิลปะ
เหตุผลที่รัฐบาลจีน หันมาสนับสนุนวงการศิลปะในประเทศ ก็เพราะศิลปะเป็น soft power ในการสื่อสารวัฒนธรรม รวมทั้งยึดครองตลาดการเงินที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม
ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมได้จากการเพิ่มขึ้นของพิพิธภัณฑ์ที่ในอดีตมีเพียงแค่ 25 แห่ง กลายเป็น 3,866 แห่ง ตั้งแต่เมื่อปี 2012 และในปัจจุบันคงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
ดีลเลอร์มืออาชีพรายหนึ่ง ที่อยู่ในจีนนับสิบปีให้ความเห็นว่า
“ตอนนี้ที่ความฮอตของตลาดอสังหาฯ ในจีนเริ่มเย็นลง เงินเลยหมุนมาทางตลาดศิลปะแทน เพราะคนรวยรุ่นใหม่มองว่าศิลปะเป็นสินทรัพย์รูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับหุ้นหรืออสังหาฯ และเพราะนักสะสมงานศิลปะรายใหญ่ในเอเชียมีอยู่แค่ประมาณ 30 ราย แต่เศรษฐีใหม่วัยหนุ่มสาวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นมาก พวกเขาอาจไม่รวยเท่าคอลเล็คเตอร์ใหญ่ 30 คนนั้น แต่พวกเขาก็เริ่มเก็บเงินเพื่อสะสมงานศิลปะกันแล้ว”
ความเย้ายวนของตลาดนักสะสมรุ่นใหม่ในเอเชีย ดึงดูดให้แกลเลอรี่ระดับไฮเอนด์อย่าง David Zwirner ต้องมาเปิดสาขาที่ฮ่องกง เป็นสาขาแรกในเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่าอีกไม่นานแกลเลอรี่ดังๆ ก็จะยกขบวนตามๆ กันมา เพื่อแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากบรรดาเศรษฐีน้อยใหญ่ในเอเชียด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับที่สิงคโปร์พยายามจะเป็นฮับของศิลปะในภูมิภาคนี้ให้ได้ ส่วนมาเลเซียก็มีเกาะปีนังที่ใช้ศิลปะดึงดูดนักท่องเที่ยว อินโดนีเซียมีเมืองย็อค จาร์การ์ต้าร์ ที่รัฐบาลช่วยสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้สร้างงานศิลปะ
แต่สำหรับวงการศิลปะในเมืองไทย หากมัวรอท่าทีจากรัฐบาลว่าจะกระโดดขึ้นร่วมขบวนดึงดูดเม็ดเงินด้วย soft power ดั่งเช่นเพื่อนบ้าน ก็อาจจะช้าเกินไปจนตกขบวน คงต้องอาศัยกำลังความสามารถของศิลปิน และภาคเอกชนที่เล็งเห็นช่องทาง ผนึกกำลังสนับสนุนผลักดันให้งานศิลปะของไทยเนื้อหอม จนเป็นที่ต้องการมากที่สุดในภูมิภาคนี้ด้วยตัวเอง
ที่มา : www.dudesweet.org
10 มี.ค. 2560